วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

มีอะไรในเครื่องหมายฮาลาล

เครื่องหมายฮาลาลที่ถูกต้องตามระบบการรับรองของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลักดังรูป






(1) คำว่า “ฮาลาล” ภาษาอาหรับ (حلال) ในสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ซึ่งมีพื้นหลังเป็นแถบเส้นตรงแนวดิ่ง
(2) ชื่อองค์กรรับรอง - "สนง. คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย" หรือ "The Central Islamic Committee of Thailand" หรือ เป็นภาษาอาหรับ (เป็นได้ทั้ง 3 ภาษา) ถ้าเป็น “สำนักจุฬาราชมนตรี” แสดงว่าเป็นเครื่องหมายฮาลาลที่ไม่ผ่านการตรวจรับรอง เนื่องจากทางสำนักจุฬาราชมนตรีได้มอบหน้าที่การตรวจรับรองฮาลาลแก่คณะกรรมการกลางอิสลามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 แล้ว
(3) หมายเลขผลิตภัณฑ์ 12 หลัก ที่ได้จากการรับรองฮาลาล ถ้าเป็นตัวเลขในระบบเก่า (ซึ่งผ่านการตรวจรับรองเช่นเดียวกัน) จะใช้ลำดับที่ของบริษัท ตามด้วยปีที่เริ่มขอรับรอง  "ที่ ฮ.ล. 025/2547" ในส่วนของเลข 12 หลักนั้น มีความหมายดังนี้ (ดูรูปประกอบ)
  • เลข 2 ตัวแรก คือ หมวดผลิตภัณฑ์ ตามที่ปรากฏในฐานข้อมูลการรับรองฮาลาลของคณะกรรมการกลางฯ จากรูปตัวอย่าง เลข 74 หมายถึง ผลิตภัณฑ์เกลือ พริกไทย แป้งทำอาหาร น้ำตาล
  • เลขตัวที่ 3-5 คือ ลำดับที่ของบริษัทในทะเบียนการขอรับรอง จากรูป เป็นบริษัทลำดับที่ 69
  • เลขตัวที่ 6-8 คือ ลำดับที่ของผลิตภัณฑ์ในรายการที่ทางบริษัทยื่นขอรับรองฮาลาล จากรูป เป็นผลิตภัณฑ์แรกของบริษัทนี้
  • เลข 4 ตัวสุดท้าย คือ เดือนและปีที่เริ่มขอรับรอง จากรูป 09 41 หมายถึงบริษัทนี้เริ่มขอรับรองผลิตภัณฑ์นี้ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2541 ซึ่งการที่เราจะทราบว่าเครื่องหมายฮาลาลนี้หมดอายุหรือไม่มีนั้น มีเพียงวิธีการเดียวคือ สอบถามโดยตรงจากฝ่ายกิจการฮาลาล คณะกรรมการกลางฯ
ส่วนเรื่องสีของเครื่องหมายฮาลาล ไม่ว่าจะเป็นสีอะไร ไม่มีผลใดๆ  (สีเครื่องหมายผลิตภัณฑ์ ขึ้นกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารนั้นๆ) เช่น อาจเป็นสีขาว, เขียว หรือแดง แต่ถ้าเงื่อนไขครบสามข้อข้างต้น ถือว่าถูกต้อง


ระวัง! หากอาหารที่คุณเลือกซื้อ มีเครื่องหมายรับรองฮาลาลของไทยที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
  • ไม่มีเลขทะเบียน
  • ไม่มีชื่อองค์กรรับรอง
  • มีชื่อองค์กรรับรอง แต่ไม่ใช่ "สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย" ซึ่งอาจระบุว่าเป็น "สำนักจุฬาราชมนตรี" หรืออื่นๆ โดยการระบุว่าเป็นองค์กรอื่นจากคณะกรรมการกลางนั้น หมายความว่า อาหารไม่ได้ถูกตรวจสอบตามขั้นตอนการรับรองฮาลาล 
หากพี่น้องพบผลิตภัณฑ์อาหารมีลักษณะน่าสงสัยดังที่กล่าวมา ให้แจ้งมาทางฮิมายะฮฺ เพื่อที่ทางทีมงานจะได้ตรวจสอบความถูกต้องให้ต่อไป




คัดลอกจาก http://www.islaminside.com/blog/halal/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น